เที่ยวสุรินทร์
เที่ยวสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่น่าสนใจของอีสานใต้ เพราะนอกจากจะเป็นทางผ่านเชื่อมไปยังประเทศกัมพูชาแล้ว ก็ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสวย ๆ รออยู่เพียบ ทั้งวัดวาอาราม ปราสาทหิน หมู่บ้านช้าง หมู่บ้านทอผ้าไหมระดับประเทศ จุดชมวิว ที่เที่ยวธรรมชาติ สวนน้ำ ถนนคนเดิน และอีกสารพัดรูปแบบของแหล่งท่องเที่ยว ถือได้ว่ามีความน่าเที่ยวไม่น้อยไปกว่าจังหวัดไหนในเมืองไทยเลยล่ะ จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง
วนอุทยานพนมสวาย

วนอุทยานพนมสวาย เป็นภูเขาบนที่ราบทำนาของจังหวัดสุรินทร์ คือ พนมพรอล พนมเปร๊าะ และพนมสรัย ทั้งสามลูกรวมกันกลายเป็นเขาพนมสวาย ผืนป่าขนาดเล็กไม่ไกลจากตัวเมืองสุรินทร์ มีบรรยากาศร่มรื่นสวยงาม ผู้ที่มาเยือนเขาพนมสวายจะได้สักการะ 9 สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองเพื่อความเป็นสิริมงคล คือ พระใหญ่หรือพระพุทธสุรินทรมงคล อัฐิหลวงปู่ดุล พระพุทธรูปองค์ดำ หลวงปู่สวน รอยพระพุทธบาทจำลอง ศาลเจ้าแม่กวนอิม เต่าศักดิ์สิทธิ์ และสระน้ำศักดิ์สิทธิ์
อนุสาวรีย์พระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม)

สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงผู้สร้างเมืองท่านแรก ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของเมืองสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ทางเข้าเมืองสุรินทร์ทางด้านใต้ เดิมเคยเป็นกำแพงเมืองชั้นใน อนุสาวรีย์เป็นรูปหล่อทองเหลืองรมดำ สูง 2.2เมตร มือขวาถือของ้าว แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถของท่านในการบังคับช้างศึก และเป็นเครื่องแสดงว่าสุรินทร์เป็นเมืองช้างมาแต่ดึกดำบรรพ์ รูปปั้นสะพายดาบคู่ หมายถึงความเป็นนักรบ ความกล้าหาญอันเป็นคุณสมบัติที่ตกทอดเป็นมรดกของคนสุรินทร์ อนุสาวรีย์แห่งนี้ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2528
วัดบูรพาราม

วัดบูรพาราม ตั้งอยู่อำเภอเมืองจังหวัดสุรินทร์ เป็นวัดเก่าแก่สร้างในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุประมาณ 200 กว่าปีเท่ากับอายุเมืองสุรินทร์ สร้างโดยพระยาสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวางเจ้าเมืองสุรินทร์คนแรก ภายในวัดได้ประดิษฐาน พระพุทธรูปหลวงพ่อชีว์ พระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 4 ศอก สร้างในสมัยเดียวกับการสร้างวัดบูรพาราม นอกจากนี้ยังมีภาพปั้นเหมือนหลวงปู่ดุล อตุโล พระวิปัสนากรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริหัตโต ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคูเมืองสุรินทร์
ปราสาทศีขรภูมิ

ปราสาทศีขรภูมิ หรือ ปราสาทระแงง ตั้งอยู่ อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ เป็นปราสาทที่มีความสมบูรณ์และงดงามที่สุดมากที่สุดในจังหวัดสุรินทร์ มีทับหลังเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และทวารบาลยืนกุมกระบอง ซึ่งนางอัปสราที่ปราสาทศีขรภูมินี้มีลักษณะคล้ายกับนางอัปสราที่ปราสาทนครวัด ประเทศกัมพูชา ซึ่งไม่พบที่ปราสาทศิลปะเขมรโบราณแห่งใดอีกเลยในประเทศไทย พบที่ปราสาทศีขรภูมิเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
ปราสาทศีขรภูมิ เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 07.30-18.00 น. ค่าธรรมเนียม คนไทย 10 บาท ชาวต่างชาติ 50 บาทต่อ 1 ท่าน ตัวปราสาทก่อด้วยอิฐบนฐานหินศิลาแลง โดดเด่นท่ามกลางสนามหญ้าสีเขียว ประกอบด้วยปรางค์ 5 องค์ ปรางค์ประธานตั้งอยู่ตรงกลางก่อด้วยอิฐขัดมัน มีปรางค์บริวารล้อมรอบ 4 มุม ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน จากลักษณะทางศิลปกรรม สันนิษฐานว่าสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 ซึ่งตรงกับศิลปะนครวัด โดยสามารถกำหนดอายุได้จากลวดลายบนกรอบประตูและทับหลังของปราสาทประธาน อย่างไรก็ดีปราสาทแห่งนี้ยังคงสร้างด้วยอิฐ แตกต่างจากปราสาทสมัยนครวัดในประเทศกัมพูชาที่นิยมสร้างด้วยหินทรายเสมอ
ปราสาทบ้านพลวง

ปราสาทบ้านพลวง ตั้งอยู่ที่บ้านพลวง ตำบลบ้านพลวง อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นศาสนสถานขนาดเล็ก หรือสรุก จำนวน 1 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สร้างตามแบบศิลปะแบบบาปวนสร้างด้วยหินทรายสีขาวบนฐานศิลาแลง ล้อมรอบด้วยคูน้ำรูปตัวยู องค์ปราสาทมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด 4 x 4 เมตร ฐานศิลาแลงมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดประมาณ 8 x 23 เมตร สันนิษฐานกันว่า ด้วยฐานศิลาแลงขนาดใหญ่เพียงนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความตั้งใจสร้างให้มีปราสาท 3 องค์ บนฐานเดียวกัน แต่คงมีเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงคราม โรคระบาด ความแห้งแล้ง จึงส่งผลให้การสร้างปราสาทชะงักไป
ปราสาทมีประตูทางเข้าเพียงทางเดียว อีกทางด้านเป็นประตูหลอก ทับหลังด้านตะวันออกและด้านใต้สลักภาพพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศเหนือสลักเป็นภาพพระศิวะปราบนาคกาลิยะ ส่วนทับหลังด้านตะวันตกยังไม่ได้สลักภาพใดๆ ปราสาทบ้านพลวงเป็นปราสาทที่ยังสร้างไม่เสร็จ สังเกตได้จากภาพแกะสลักยังไม่เสร็จ โดยภาพส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของเทพปกรณัมในลัทธิไศวะนิกาย แต่มีการสลักภาพสัตว์ เช่น สลักภาพกระรอกกระแต และกวางป่าไว้เหนือใบระกาด้านต่อดอกพันธุ์พฤกษา ซึ่งไม่ปรากฏในปราสาทแห่งใด
ปราสาทบ้านพลวง ได้รับการบูรณะเมื่อ พ.ศ. 2514 – 2516 ด้วยวิธีอนัสติโลซีส คือการรื้อมาและประกอบเป็นจิกซอว์ขึ้นใหม่ เสริมโครงสร้างและรากฐานใหม่ หินส่วนไหนขาดก็เติมหินเข้าไปใหม่ให้สมบูรณ์ โดยไม่ขัดกับลวดลายและศิลปะเดิมของปราสาท โดยนายแวนส์ เรย์ ซิลเดรส นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา
ทะเลสาบทุ่งกุลา

ทะเลสาปทุ่งกุลา เป็นหนึ่งในโครงการแก้มลิงอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ทางกรมชลประทานได้มาขุดเพื่อการเกษตร ในพื้นที่รอยต่อตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ และ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด มีความลึกตั้งแต่ 1-4 เมตร จำนวน 150 ไร่รอบบริเวณอ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ทั้งสิ้น 750 ไร่ ซึ่งกรมชลประทานหลังจากขุดเสร็จได้โอนความรับผิดชอบให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลไพรขลา อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา เมื่อแรกขุดน้ำก็ขุ่นตามธรรมชาติ แต่ไม่ถึงปีน้ำแห่งนี้เป็นสีครามอย่างไม่น่าเชื่อ น้ำแห่งนี้เป็นน้ำกร่อย เชื่อกันว่าในอดีตบริเวณนี้เป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ ทำให้เป็นตัวกลั่นกรองน้ำให้ใสสีฟ้า สวยงามเหมือนดั่งน้ำทะเลไม่ผิดเพี้ยน จนชาวบ้านและนักท่องเที่ยวพากันขนานนามว่า “ทะเลสาปทุ่งกุลา ไพรขลาแม่น้ำสีคราม”
ศูนย์คชศึกษา

ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพัน ของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก
ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้าง เช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี
ศูนย์คชศึกษา หรือ หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง จ.สุรินทร์ เป็นศูนย์รวมของสมาชิกช้างทั้งในบ้านกะโพ ตากลาง และจากหมูบ้านอื่น ๆ ในจังหวัดสุรินทร์มากกว่า 200 ตัว ซึ่งจัดให้เป็นวิถีชีวิตที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันของคนกับช้างโดยมีทั้งบ้าน เรือนของชาวบ้านหรือที่เรียกว่าควานช้าง และมีที่อยู่ของช้างอยู่ทั่วบริเวณเป็นวิถีชีวิตที่น่าทึ่งมากๆ ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนเราก็จะพบเห็นช้างอยู่แทบทุกที่ ซึ่งช้างแต่ละตัวก็เป็นช้างแสนรู้น่ารัก ไม่ดุร้าย และสามารถเข้ากับคนได้ง่าย ช้างบ้านตากลางเป็นช้างบ้านที่เชื่อง นอนร่วมชายคาเรือนเดียวกันกับคน เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ช้างกับคนอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข
บทความที่น่าสนใจ : Vegas Magic , Hotpot